แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์
- 1. ฟังก์ชันหลักและคุณสมบัติ
- 2. วิวัฒนาการของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์
- 3. โครงสร้างทั่วไปและประเภทของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์
- 4. ความแตกต่างระหว่างประเภทแนวนอนและแนวตั้ง
1. ฟังก์ชันหลักและคุณสมบัติ
ในปัจจุบันมีการใช้งานแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ในโรงงานผลิตกันอย่างแพร่หลาย นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์หลักในการผลิตแม่พิมพ์แล้ว แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ก็ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญในการขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะและส่วนประกอบต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นจะใช้สำหรับการเจียรผิวและเจาะชิ้นส่วนเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการผลิตแม่พิมพ์สำหรับสร้างชิ้นส่วนตัวถัง ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวนมากที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในโรงงานอุตสาหกรรมล้วนแต่ผลิตมาจากแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ทั้งนั้น
แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์มีฟังก์ชันการเปลี่ยนเครื่องมืออัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเปลี่ยนเครื่องมือบนเครื่อง NC แต่แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์จะมีแขนกลสำหรับเปลี่ยนเครื่องมือจากคลังเครื่องมือโดยอัตโนมัติระหว่างการขึ้นรูปชิ้นงาน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการเปลี่ยนเครื่องมือแบบเดิมๆ อีกทั้งยังช่วยการทำงานเป็นไปโดยอัตโนมัติ ประหยัดพลังงาน และต้นทุนลดลงอีกด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์แบบห้าแกนซึ่งเพิ่มแกนแบบหมุนได้ขึ้นมาอีกสองแกน จากแบบทั่วไปที่มีเพียงสามแกน ซึ่งจะช่วยให้สร้างรูปร่างที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น
2. วิวัฒนาการของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์
โดยทั่วไปแล้ว การผลิตชิ้นส่วนโลหะจะประกอบไปด้วยการขึ้นรูปที่ซับซ้อนต่างๆ เช่น การเจาะ การคว้าน (การขยายรูเจาะ) และการทำเกลียว นอกจากนี้ก็ยังมีการเจียรผิวและเซาะร่องอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วจะต้องเลือกเครื่องมือตัดที่แตกต่างกันสำหรับกระบวนการขึ้นรูปเหล่านี้ เช่น ดอกเจาะ ดอกกัด เครื่องมือเจาะ และต๊าป
เมื่อมีเครื่องกลึง NC เกิดขึ้นในต่อมา ก็ได้มีการพัฒนาฟังก์ชันการเปลี่ยนเครื่องมือด้วยตนเองที่เรียกว่าเทอร์เร็ตขึ้น ทำให้การเปลี่ยนใบมีดสะดวกขึ้น แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ได้นำไอเดียนี้มาพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการเปลี่ยนเครื่องมือโดยอัตโนมัติ แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์สามารถทำการขึ้นรูปได้หลากหลายประเภทอย่างต่อเนื่อง แม้ชิ้นงานจะมีพื้นผิวแตกต่างกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างมาก แม้ในปัจจุบันนี้ แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ก็ยังคงมีการพัฒนาให้มีความแม่นยำและความเร็วในการขึ้นรูปมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งทำให้เครื่องมือชนิดนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิต
คุณจะพบว่าในโรงงานแปรรูปโลหะจะมีแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์จำนวนมากทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนในทุกๆ วัน จึงมีผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องคอยควบคุมเครื่องจักร
- A
- เทอร์เร็ต
3. โครงสร้างทั่วไปและประเภทของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์
แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์สามารถแบ่งกว้างๆ ตามโครงสร้างได้เป็นสามประเภท ได้แก่ แนวนอน แนวตั้ง และประเภทรางแขวน เครื่องประเภทแนวนอนเป็นประเภทแรกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งสามารถให้คำจำกัดความได้ง่ายๆ ว่าเป็นเครื่องจักรที่มีหัวเพลาและติดตั้งเครื่องมือตัดไว้ในแนวนอน (หรือขนานกับพื้น) ส่วนเครื่องประเภทแนวตั้งก็จะมีหัวเพลาอยู่ในแนวตั้ง และชนิดรางแขวนที่มีโครงสร้างคล้ายซุ้มประตูที่มีหัวเพลาหันลงด้านล่างติดตั้งอยู่บนเพดานของซุ้มประตู
ตัวอย่างเช่น การใช้งานเครื่องประเภทแนวนอน โครงสร้างโดยทั่วไปของแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์จะมีส่วนฐานที่เรียกว่าแท่นเครื่องอยู่ด้านล่าง และมีหมอนรองที่จะเคลื่อนที่ไปมาอยู่บนแท่นเครื่อง และมีโต๊ะติดอยู่ด้านบนของหมอนรองสำหรับวางวัสดุ เสาที่ตั้งฉากกับแท่นเครื่อง และหัวเพลาที่ติดตั้งเครื่องมือตัดไว้
4. ความแตกต่างระหว่างเครื่องประเภทแนวนอนและแนวตั้ง
แมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์แบบแนวนอนจะมีหัวเพลาที่ติดตั้งใบมีดไว้ด้านข้าง ซึ่งจะกลึงชิ้นงานในทิศทางแนวนอน เสาจะเคลื่อนที่ไปตามแกน X ส่วนหมอนรองจะเคลื่อนที่ไปตามแกน Y และโต๊ะจะเคลื่อนที่ไปตามแกน Z การทำงานร่วมกันของทั้งสามแกนนี้จะทำให้เกิดการกลึงแบบสามมิติ นอกจากนี้ บางรุ่นยังมีแกน B สำหรับหมุนโต๊ะในแนวนอน ซึ่งจะช่วยให้สามารถขึ้นรูปวัสดุโดยใช้แกนทั้งสิ้นสี่แกน
ข้อดีอย่างหนึ่งของเครื่องประเภทแนวนอนคือความสามารถในการกลึงพื้นผิวชิ้นงานทั้งสี่ด้านได้ในคราวเดียว เมื่อใช้เครื่องกลึงสี่แกนที่มีแกน B ด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องสลับชิ้นงานจนครบทั้งสี่ด้านด้วยตนเองและยังช่วยให้การขึ้นรูปมีความแม่นยำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขึ้นรูปในแนวนอนยังจะทำให้เศษตกลงมาด้านล่าง ซึ่งจะป้องกันไม่ให้มีเศษสะสมอยู่บนชิ้นงานและเข้าไปในใบมีด
ในทางกลับกัน เครื่องกลึงแนวตั้งจะมีแกนหมุนอยู่ในแนวตั้ง และจะกลึงชิ้นงานจากด้านบน โดยปกติแล้ว โต๊ะจะเคลื่อนที่ในแนวนอนตามแกน X และแกน Y และหัวเพลาจะเคลื่อนที่ในแนวตั้ง จึงสามารถกลึงแบบสามแกนได้
เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องประเภทแนวนอนที่แกนหมุนตั้งอยู่ที่ด้านข้างของชิ้นงานแล้ว จะเห็นได้ว่าเครื่องประเภทแนวตั้งนั้นใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยกว่า จึงทำให้ได้รับความนิยมมากกว่า นอกจากนี้ การกลึงจากด้านบนชิ้นงานยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเปรียบเทียบชิ้นงานกับดีไซน์ที่ออกแบบไว้ในขณะกลึงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การกลึงที่ด้านบนของชิ้นงานจะทำให้มีเศษสะสมอยู่บนชิ้นงาน จึงต้องใช้เครื่องเป่าที่ใช้ลมอัด หรือล้างเศษออกด้วยสารหล่อลื่นตามความเหมาะสม
- A
- หัวเพลาที่ติดตั้งเครื่องมือไว้